รวันดา: ภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่ปราศจากความยุติธรรม (9)

เรียบเรียงโดย ธนชาติ แสงประดับธรรมโชติ
                        นักวิชาการอิสระเศรษฐศาสตร์การเมือง
                        เครือข่ายเสริมสร้างสังคมสันติสุข

 
หลังจากสงครามกลางเมืองหลายฝ่ายเชื่อว่าความยุติธรรมจะเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่กระบวนการประนีประนอมต่อกัน ดังนั้นในเดือนเมษายนปี 1995 ประมานหนึ่งปีหลังจากสงครามสิ้นสุดลง รัฐบาลใหม่ได้จับกุมประชาชนมากกว่า 7 หมื่นคนซึ่งเป็นพลเรือนในข้อหาเกี่ยวกับการเข้าไปเกี่ยวข้องในการกระทำรุนแรงต่อชีวิตของประชาชนโดยใช้ระยะเวลาเพียงเดือนเศษเท่านั้น
 
แต่การจะลงโทษผู้ที่ถูกจับกุมกลายเป็นหนึ่งในอุปสรรคใหญ่ที่สุดที่ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งไม่อาจบรรเทาลงได้ เนื่องจากพลเรือนที่ถูกจับ 7 หมื่นคนไม่มีใครได้รับการพิจารณาคดีในศาล การพิจารณาโทษถูกเลื่อนออกไปอย่างต่อเนื่องและไม่มีกำหนด     ทั้งนี้เพราะรัฐบาลก่อนหน้านี้ได้หลบหนีไปจากรวันดาพร้อมกับเงินตราของประเทศเป็นส่วนใหญ่ บุคลากรที่เคยมีก็อพยพหนีภัยไปต่างประเทศ ทำให้ขาดแคลนบุคลากรทางกฎหมาย และขาดแคลนงบประมาณในการจัดการดังกล่าว
 
 นอกจากนั้นรัฐบาลก็เริ่มลังเลใจที่จะเริ่มกระบวนการพิจารณา เพราะมีแนวโน้มว่าการจับกุมประชาชนซึ่งเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตูหัวไม่รุนแรงกลายเป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่ผู้นำกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา (Rwandan Patriotic Front-RPF) กังวลซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ากระบวนการพิจารณาคดีจะยิ่งเป็นชนวนนำไปสู่การต่อสู้อีกครั้งหนึ่ง  ดังนั้นผู้ต้องหาชาวฮูตูจึงได้ล้นที่คุมขังจำนวนมากมาก 
           
ในช่วงเวลาที่ชาวตุ๊ดซี่กลับมามีอำนาจอีกครั้งนั้นมีผู้พิพากษาเพียง 36 คนและอัยการอีก 14 คนและมีผู้ช่วยอัยการเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่พอจะสามารถรับมือกับคดีความได้  จากข้อมูลของการเฝ้าสังเกตของนักสิทธิมนุษยชนในแอฟริกา (Human Rights Watch/Africa – HRW/A) มีเพียงอัยการ 3 คนจากจำนวนที่มีอยู่ได้รับการฝึกฝนทางกฎหมายอย่างถูกต้อง ซึ่ง HRW/A คาดการณ์ว่าระบบตุลาการของรวันดาจะต้องการผู้พิพากษาจำนวน 700 คนเพื่อที่จัดการเรื่องเหล่านี้ให้สำเร็จลงได้
 
 นอกจากนั้นการขาดแคลนพนักงานสอบสวนก็เป็นปัญหาในกระบวนการยุติธรรมเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อเดือนเมษายน ปี 1995 ทั้งรวันดามีจำนวนพนักงานสอบสวน เพียง 26 คนเท่านั้น และไม่มีใครที่มีพาหนะที่จะใช้เดินทางไปยังที่เกิดเหตุเพื่อดำเนินการสอบสวนได้เลย  HRW/A คาดว่าหากจะดำเนินการสอบสวนเรื่องดังกล่าวก่อนนำคดีไปฟ้องต่อศาลนั้น จำเป็นต้องมีพนักงานสอบสวนจำนวนประมาณ 750 คน ซึ่งแต่ละคนจะต้องมีพาหนะเพื่อเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่สอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย
 
การที่ประชาชนจำนวนมากถูกจับเกิดสภาพผู้ถูกคุมขังล้นคุก กลายเป็นปัญหาที่น่ากังวลของทุกฝ่าย กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนนานาชาติแนะนำว่าทนายความที่มีความสามารถควรจะเข้ามาทำหน้าที่ในกระบวนพิจารณา และยังแนะนำต่อไปอีกว่ากระบวนการยุติธรรมต่างๆที่เกิดขึ้นจะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วเพื่อให้สภาพการเป็นผู้ต้องขังพัฒนาเป็นนักโทษโดยเร็ว หรือหากเป็นผู้บริสุทธิ์จะได้ปล่อยตัวกลับบ้านโดยเร็วเช่นกัน   ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากกลัวว่าการจับกุมและการพิจารณาคดีที่ล่าช้าและปราศจากความยุติธรรมจะทำให้เกิดความรุนแรงครั้งใหม่  
 
 อย่างไรก็ตามยังมีการกล่าวกันว่าถึงแม้ว่าบุคคลใดที่ได้รับการพิจารณาแล้วว่าบริสุทธิ์จนได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว  พวกเขาก็ยังคงมีเป้าหมายในการล้างแค้นอยู่ องค์กรเอกชนหลายองค์กรได้เข้าตรวจสอบการระวังความปลอดภัยและสิทธิมนุษยชนของเด็กซึ่งถูกจับจากการมีส่วนร่วมในการก่อความรุนแรง เด็กเหล่านี้หลายคนที่ถูกคุมขังพร้อมๆกับพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ของตน HRW/A แนะว่าใครก็ตามที่อายุต่ำกว่า 16 ปี ควรจะอยู่ในที่คุมขังแยกต่างหากจากผู้ใหญ่เพื่อความปลอดภัย
 
ขณะที่รัฐบาลรวันดาเป็นผู้รับผิดชอบในการจับกุมและคุมขังประชาชนจำนวน 7 หมื่นคน ส่วนศาลอาชญากรรมสหประชาชาติเพื่อรวันดา (UN’s International Criminal Tribunal for Rwanda) เป็นผู้ดำเนินการพิจารณาลงโทษผู้นำทางทหารและนักการเมืองในข้อหาการสังหารหมู่ประชาชนและการกระทำอันละเมิดสิทธิมนุษยชน  กลุ่มชาติผู้นำสหประชาชาติเชื่อว่าการก่อตั้งคณะกรรมการนานาชาติจะช่วยรวันดาแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนเผ่าลงได้ และเป็นการสื่อความหมายให้ทราบทั่วกันว่าการก่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อมนุษยชาติเป็นสิ่งที่นานาชาติไม่สามารถยอมรับได้อีก
 
ศาลอาชญากรรมสหประชาชาติรวันดา ตั้งอยู่ที่แทนเซเนียและแยกต่างหากจากระบบตุลการของรวันดา เริ่มพิจารณาคดีเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 1995 ซึ่งในช่วงแรกศาลยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีผู้นำทางทหาร  ผู้นำทางการเมืองจำนวนน้อยที่ถูกนำขึ้นสู่การพิจารณา และศาลก็ไม่ประสบความสำเร็จในการลงโทษบุคคลที่เชื่อว่าก่อความรุนแรง กระบวนการพิจารณาดำเนินไปอย่างเชื่องช้าเพราะว่าสมาชิกหลายคนของรัฐบาลก่อนหน้านี้ได้หนีออกจากประเทศไปอยู่หลบอยู่ประเทศอื่นๆทั่วโลก   HRW/A จึงแนะนำให้ประเทศทั้งหลายเหล่านั้นจับกุมผู้นำชาวรวันดาที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ใช้อำนาจฝ่าฝืนสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงกลับรวันดา
 
เมื่อเดือนตุลาคม ปี 1995 HRW/A ประณามพฤติกรรมของประธานาธิบดีเคนยา นายดาเนียล อารับ มอย (Daniel Arap Moi  )ที่ยอมให้ชาวรวันดาดังกล่าวลี้ภัยในเคนยา และยังอ้างว่ามอยได้ข่มขู่ที่จะจับกุมเจ้าหน้าที่ของศาลอาชญากรรมสหประชาชาติหากพวกเขาได้เดินทางเข้าเคนยาเพื่อสอบสวนหรือเข้ามาจับกุมผู้ต้องสงสัยชาวรวันดา แต่เมื่อถูกกดดันจากนานาชาติต่อมาเมื่อปี 1997 เคนยาเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ให้ความช่วยเหลือศาล  โดยการจับกุมและส่งตัวผู้นำที่ต้องสงสัยว่ากระทำผิดรวมถึงนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลรักษาการณ์    ชอง คามบานดา  (Jean Kambanda)และผู้ต้องสงสัยอีก 7 คนกลับรวันดา  ส่วนประเทศอื่นซึ่งช่วยเหลือในการจับกุมบุคคลที่เชื่อว่าใช้อำนาจละเมิดสิทธิมนุษยชนและสังหารหมู่ได้แก่ คาเมรูน สวิตเซอร์แลนด์ อเมริกา แซมเบียและเบลเยียม
 
เมื่อต้นปี 1997 หลังจากที่รวันดาได้รับเงินช่วยเหลือนานาชาติมากขึ้น จึงมีเครื่องไม้เครื่องมือในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้นและมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาแทนที่ ศาลก็เริ่มที่จะทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เมื่อกลางปี 1997 มีหลายคดีที่ได้นำไปสู่การพิจารณา เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 1998 ชอง คามบานดา  (Jean Kambanda)สารภาพว่าได้กระทำผิดจริงในข้อหาสังหารหมู่และยินยอมที่จะให้การถึงบุคคลอื่นที่ช่วยเหลือในการวางแผนการสังหารเมื่อปี 1994 ด้วย
 
ระบบตุลาการรวันดาถูกขยายและได้รับเงินช่วยเหลือยังคงเดินหน้าต่อไป เมื่อปี 1997 กรมตุลาการได้รับความช่วยเหลือจากต่างชาติและมีผู้พิพากษา 910 คนที่สามารถพิจารณาคดีได้ เมื่อกลางปี 1997 จากข้อมูลของ HRW/A ศาลรวันดาได้พิจารณาไป 142 คดีซึ่งมีบุคคลถูกตัดสินว่ากระทำผิดจริง 73 คนและถูกส่งไปจำคุก มีประชาชนจำนวน 61 คนถูกตัดสินว่ากระทำผิดและถูกลงโทษประหารชีวิต และ 8 คนที่ตัดสินว่าไม่มีความผิดและถูกปล่อยตัว การพิจารณาคดียังคงดำเนินต่อไปตลอดปี 1997 และ 1998 และเมื่อวันที่ 24 เมษายน 1998 รัฐบาลรวันดาได้เริ่มประหารชีวิตบุคคลที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดในการมีส่วนร่วมในเหตุการณ์สังหารเมื่อปี 1994  ทั้งที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากประชาคมโลกเพราะเริ่มเห็นเค้าลางว่าการพิจารณาอาจไม่ชอบธรรม แต่ศาลก็ยังสั่งลงโทษและประชาชนจำนวน 22 คนก็ถูกประหารชีวิต
 
การเพิ่มขึ้นของจำนวนบุคลากรในระบบตุลาการเป็นที่ต้องการและเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่ารัฐบาลรวันดายังดำเนินการจับกุมประชาชนอยู่อย่างต่อเนื่องซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวฮูตู นักโทษกว่า 1 แสนคนยังคงถูกคุมขังตลอดทั่วทั้งประเทศและอาจใช้เวลาเป็นสิบปีที่จะพิจารณาบุคคลที่ถูกจับทั้งหมด นอกเหนือจากนั้นจากการสังเกตการณ์ของประชาคมโลกพบว่าข้อผิดพลาดหลายอย่างได้เกิดขึ้นในระบบตุลาการของรวันดา การรายงานขององค์การนิรโทษกรรมสากลเมื่อปี 1998 พบว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้เกิดขึ้นหลายครั้งตลอดปี 1997 และ 1998
 
ภายใต้รัฐบาลรวันดา สมาชิกของกองทหารและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลุ่มอื่นๆได้จับกุมประชาชนโดยไม่มีอำนาจทางกฎหมาย แต่รัฐบาลยังควบคุมตัวบุคคลเหล่านี้โดยใช้เวลานาน และไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาไม่มีการพิจารณาคดี จากข้อมูลของ HRW/A เมื่อปลายปี 1997 ประชาชนจำนวน 40% ในคุกและ 80% ของบุคคลที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในที่อื่นๆยังไม่ได้รับการตั้งข้อกล่าวหาใดๆ
 
การเลื่อนการพิจารณาคดีอย่างต่อเนื่องในตัวมันเองเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนของนานาชาติ ยิ่งนักโทษชาวรวันดายังถูกจำคุกในสภาพทารุณโหดร้าย เช่น   ในคุกที่นักโทษล้นหลามแออัดยัดเยียด และต้องทนทุกข์ทรมานจากการถูกทุบตี ความอดอยาก และการได้รับปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมอีกหลายรูปแบบ ทั่วทั้งประเทศได้หันมาใช้กระบวนการยุติธรรมที่ปราศจากความยุติธรรมในการจัดการกับชาวฮูตู  หลายๆฝ่ายอาจคิดไปได้ว่านี่เป็นรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องต่อกฎหมายในการจัดการกับชาติพันธ์ฮูตู ชนหมู่มากในรวันดา ที่มีสถานะเป็นชนชั้นล่างของสังคมมาอย่างยาวนานตามที่ชาวตุ๊ดซี่ยัดเยียดให้เป็น
 
จากข้อมูลขององค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติ บุคคลที่ถูกจับกุมหลายคนได้รับการพิจารณาอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติเป็นอย่างมากที่บุคคลซึ่งถูกตั้งข้อหาสังหารหมู่ถูกดำเนินคดีโดยไม่มีทนายความ ช่วยเหลือในการแก้ข้อกล่าวหา เพราะรัฐบาลอ้างว่าไม่สามารถจัดหาทนายความและที่ปรึกษากฎหมายให้แก่ประชาชนทั้งหมดได้ และทนายความก็มีจำนวนไม่พอแก่ความต้องการ ประกอบกับการว่าความแก้ต่างให้บุคคลที่ถูกตั้งข้อหาว่าสังหารหมู่ประชาชนหรือละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นงานที่อันตราย เพราะทนายความคนหนึ่งได้หายไปเมื่อปี 1997 หลังจากตัดสินใจจะว่าความแก้ต่างให้แก่ผู้ต้องสงสัยว่าสังหารหมู่ นอกจากนั้นยังคงมีรายงานจากหลายพื้นที่ว่าประชาชนได้ขู่เข็ญ ทำร้ายผู้พิพากษาและพยานผู้รู้เห็นด้วย
 
ฐานะของนักโทษ
ความต้องการของรัฐบาลรวันดาเพื่อให้เกิดความยุติธรรมได้สร้างความตึงเครียดในระบบการคุมขังนักโทษของประเทศ ตัวอย่างเช่น สถานที่จำคุกกิทารามา ถูกสร้างเพื่อรองรับคนเพียง 600 คนแต่เมื่อปี 1995 กลับแออัดอย่างรุนแรงเต็มไปด้วยนักโทษจำนวน 7 พันชีวิต ส่วนใหญ่ถูกคุมขังที่ลานของคุก ซึ่งเป็นที่โล่งสัมผัสแสงแดดอันร้อนระอุและสายฝนที่กระหน่ำ นักโทษใช้เวลาส่วนใหญ่ด้วยการยืน เพราะว่าไม่มีห้องให้นั่งหรือนอน บางครั้งต้องใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมงเพื่อจะได้อาบน้ำเพราะมีห้องอาบน้ำเพียงเล็กน้อยไม่เพียงพอ
 
การคุมขังนักโทษในสภาพที่ไม่ถูกสุขลักษณะต้องทุกข์ทรมานจากสภาวะที่กลัวความตาย โรคภัยและจากความหิวโหย ภาวะนักโทษล้นคุกส่งผลให้นักโทษเสียชีวิตจำนวน 250 – 300 ต่อเดือน  ผู้ต้องสงสัยจากการก่อความรุนแรงเมื่อปี 1994 จะถูกคุมขังรวมกับนักโทษในคดีความผิดสถานเบา เด็กกว่า 300 คนซึ่งต้องสงสัยว่าก่อการฆาตกรรมก็ถูกคุมขังที่เดียวกับผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะมีองค์กรช่วยเหลือต่างๆเข้ามาทำการปรับปรุงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น  แต่เรือนจำในรวันดาก็ยังคงอยู่สภาพแออัดเหมือนเดิม  จึงมีการกล่าวกันว่าสิ่งที่ชาวฮูตูได้รับคือกระบวนการยุติธรรมที่ปราศจากความยุติธรรม..........
 
           *บทความแบ่งเป็น 10 ตอน โดยแปลสรุปจาก World in conflict.  Rawanda : country torn apart. และนำมาเรียบเรียงใหม่เพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วนเพื่อความเข้าใจง่ายขึ้น
 
อ้างอิง : Bodnarchuk, Kari. World in conflict.  Rawanda : country torn apart .
                Manufactured in the United States of America.
                By Lerner Publications Company
              ………………………………………………………………………

Visitors: 6,484