บทสัมภาษณ์ เรื่อง “การปฏิรูปประเทศไทย : ทิศทางการปฏิรูปและการวางกติกาของบ้านเมือง เพื่อก้าวสู่อนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน”

คอลัมน์       บทสัมภาษณ์ความเห็นทางวิชาการ
ชื่อเรื่อง       พลเอก เอกชัย  ศรีวิลาศ  ผู้อำนวยการหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข
                   สถาบันพระปกเกล้า สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
                   เรื่อง “การปฏิรูปประเทศไทย : ทิศทางการปฏิรูปและการวางกติกาของบ้านเมือง
                   เพื่อก้าวสู่อนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน”

                   เมื่อวันอังคารที่ ๒๕พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ณห้องรับรองสมาชิกรัฐสภาอาคารรัฐสภา ๑
ผู้เขียน กองบรรณาธิการ

 

            จุลนิติ: ขอทราบถึงความเป็นมา แนวคิด และหลักการที่สำคัญในการปฏิรูปประเทศหรือการปฏิรูปสังคมในกรณีของต่างประเทศหรือบางประเทศที่ประสบความสำเร็จนั้นได้มีแนวทางการดำเนินการอย่างไรจนเป็นที่ยอมรับของประชาชนในสังคมทุกฝ่าย
 
            พลเอก เอกชัยฯ:จากการศึกษาของสถาบันพระปกเกล้าที่ผ่านมาพบว่า แนวความคิดในการปฏิรูปในหลาย ๆ ประเทศมักมีที่มาอันเกิดจากความขัดแย้งของคนในประเทศนำไปสู่การปฏิรูป บางประเทศก็นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อสร้างความปรองดอง ก็จะสอดคล้องกับแนวคิดในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ของประเทศไทยในขณะนี้ ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ ๑๐ ได้พิจารณาในภาค ๔ การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด ๒ การสร้างความปรองดอง ได้เสนอกรอบแนวคิดเบื้องต้นในการยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนนี้ไว้โดยได้กำหนดสภาพปัญหาหลักว่า เงื่อนไขของความขัดแย้งโดยทั่วไปเกิดขึ้นจากความเชื่อทางศาสนา ปรัชญา แนวคิดทางการเมือง การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่เหลื่อมล้ำ โดยได้เสนอหลักการที่สำคัญเพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาทิ การออกแบบและเชื่อมโยงหมวดอื่น ๆ ในรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างความปรองดอง ตลอดจนกำหนดให้บุคคลมีหน้าที่ในการเสริมสร้างความปรองดองเพื่อเสถียรภาพความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของชาติ หากเราศึกษาปัจจัยแห่งความสำเร็จในการปฏิรูปของต่างประเทศจะพบว่า ในต่างประเทศจะพยายามสร้างประชาธิปไตยที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในขณะที่ประเทศไทยเรามีความพยายามที่จะกำหนดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้นเห็นได้จากที่ผ่านมามีการกำหนดในรัฐธรรมนูญถึงแนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจทางการเมืองรวมถึงการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายด้วย แต่ในความเป็นจริงประชาชนมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมน้อยมาก ยกตัวอย่างกรณีการเข้าชื่อเพื่อเสนอกฎหมายของประชาชนที่บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้กระทำได้แต่กฎหมายที่ประชาชนเสนอเหล่านั้นกลับไม่ได้รับการพิจารณาจากรัฐสภา
 
            สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่เราต้องกำหนดให้ประชาชนมีสิทธิและหน้าที่ตลอดจนเข้ามามีส่วนร่วมคือ การเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการใช้อำนาจรัฐและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐ เพื่อดูว่าจะเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้อำนาจรัฐในกระบวนการขั้นตอนใดบ้างเริ่มตั้งแต่กระบวนการคิด การวางแผน นำไปสู่การปฏิบัติ ต่อเนื่องถึงการติดตามเพื่อประเมินผล ทั้งนี้ ประชาชนต้องสามารถเข้ามามีส่วนร่วมตลอดทั้งกระบวนการเพราะฉะนั้นต่อจากนี้เราต้องพยายามออกแบบให้สิ่งต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง เนื่องจากภาวะความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในยุคหลังนี้ผมเห็นว่าเกิดขึ้นจากการที่ภาคประชาชนเริ่มเติบใหญ่ เริ่มมีพลัง เริ่มเข้มแข็งและกดดันภาครัฐมากขึ้น กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ เช่น ประเทศเกาหลีใต้  ประเทศอินโดนีเซีย  ที่ในระยะหลังภาคประชาชนมีความเข้มแข็งมากขึ้นและกดดันภาครัฐจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปประเทศในที่สุด
 
            จุลนิติ : ขอทราบถึงที่มาและแนวคิดในการที่จะต้องมีการปฏิรูปประเทศไทยอีกคำรบหนึ่งในสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน ตลอดจนสภาพปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญอันเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศที่เกิดขึ้นในอดีตถึงปัจจุบัน
 
            พลเอก เอกชัยฯ: ในสถานการณ์ปัจจุบันเราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าอำนาจอธิปไตยทั้ง 
๓ อำนาจ ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ซึ่งถูกออกแบบมาให้เกิดการดุลและคานอำนาจซึ่งกันและกัน  แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้นที่ผ่านมานักการเมืองมีความเข้มแข็งและมีอำนาจมากจนทำให้บางครั้งฝ่ายนิติบัญญัติก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายการเมืองทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่การใช้อำนาจอธิปไตยในระบอบประชาธิปไตยได้ถูกออกแบบมาให้ใช้อำนาจแยกจากกันทั้ง ๓ ส่วน และเราต้องยอมรับว่าอำนาจของตุลาการกลับมามีบทบาท และอำนาจเหนือทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ นอกจากนี้ในบางครั้งข้าราชการก็กลับขึ้นมามีบทบาทสำคัญเหนือกว่าบทบาทอำนาจของฝ่ายการเมืองเสียอีก ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดทิศทางกรอบและแนวทางในการพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจและสังคมก็มาจากการดำเนินการของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติซึ่งมีภารกิจในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม  ในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ตัวอย่างของต่างประเทศเช่น ประเทศฟิลิปปินส์กับประเทศอินโดนีเซีย การกำหนดนโยบายด้านความมั่นคงของประเทศจะอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐสภา ส่วนฝ่ายบริหารมีหน้าที่ในการบริหารอย่างเดียว ต่างจากประเทศไทยของเราที่ผ่านมาล้วนแล้วแต่ให้รัฐบาลทำหน้าที่ในการกำหนดทิศทางประเทศในทุกๆด้านเอง คิดเรื่องงบประมาณเอง รวมถึงบริหารงบประมาณเอง และสุดท้ายก็กลายเป็นว่าบางส่วนไปประมูลงบประมาณนั้นเองซึ่งไม่ถูกต้องนัก  ผมเห็นว่านี่คือปัญหาเชิงโครงสร้างที่เราออกแบบไว้แล้วทำให้เกิดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เกิดปัญหาคอร์รัปชั่นตามมา ซึ่งในต่างประเทศจะแยกอำนาจการบริหารไว้อย่างชัดเจน เช่น ถ้าคุณมีอำนาจในการกำหนดเรื่องทิศทางประเทศและงบประมาณแล้ว คุณจะไม่สามารถจับเงินได้  เรื่องเหล่านี้ถูกแยกจากกันอย่างชัดเจน ส่งผลให้ทั้งประเทศอินโดนีเซีย และประเทศฟิลิปปินส์ในขณะนี้สถานการณ์การเมืองเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น
 
สำหรับประเทศไทยนั้นแตกต่างจากประเทศอื่นๆ  ผมมีความเห็นว่าเราจำเป็นต้องสร้าง
ดุลยภาพให้เกิดขึ้นใน ๔ ภาคส่วนของอำนาจ ได้แก่ ๑. ทหาร ๒. ข้าราชการ ๓. การเมือง และ ๔. ประชาชน
 คำถามคือจะทำอย่างไรให้ทั้ง ๔ ภาคส่วนนี้เกิดดุลยภาพระหว่างกัน ถ้าเรามองย้อนกลับไปในอดีต จะพบว่าทหารมีอำนาจเหนือกว่า  และนักการเมืองก็กลับมามีอำนาจเหนือกว่าทหาร  ต่อมาภายหลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ฝ่ายทหารได้ปรับโครงสร้างทหารจนกระทั่งนักการเมืองไม่สามารถก้าวล่วงเข้าไปมีอำนาจเหนือทหารได้  ส่วนภาคประชาชนก็ยังคงไม่มีอำนาจเช่นเดิม อำนาจในที่นี้หมายถึงอำนาจต่อรองทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม  อำนาจที่จะเข้าไปมีสิทธิหรือมีส่วนร่วมในด้านการเมือง สิ่งเหล่านี้คือสิ่งสำคัญที่เราจะเขียนรัฐธรรมนูญกันอย่างไรเพื่อจะสร้างดุลยภาพให้เกิดขึ้นได้ เมื่อใดที่เกิดดุลยภาพใน ๔ ส่วนนี้ได้เราจะอยู่ร่วมกันได้ยั่งยืนยาวนานตลอดไป
 
            จุลนิติ : ในทรรศนะของท่านคิดว่าการปฏิรูปในแต่ละด้านตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ มาตรา ๒๗ ควรมีแนวทางอย่างไร จึงจะประสบผลสำเร็จตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
 
            พลเอก เอกชัยฯ: ในเรื่องนี้ผมมีความเห็นว่าการกำหนดให้สภาปฏิรูปแห่งชาติมีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ทั้ง ๑๑ ด้านนั้นดูจะเป็นการกำหนดที่เฉพาะเจาะจงจนเกินไป และอาจเกิดคำถามตามมาว่าจะกำหนดให้มีด้านอื่น ๆ มากกว่านี้ได้หรือไม่หรือสิ่งที่กำหนดขึ้นมานี้บางเรื่องมีความจำเป็นหรือไม่ผมเห็นว่าในการขับเคลื่อนประเทศเราอาจกำหนดเป็น ๔ ยุทธศาสตร์ ได้แก่๑. ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ ๒. ยุทธศาสตร์ด้านการเมือง ๓. ยุทธศาสตร์ทางสังคมจิตวิทยา๔. ยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันประเทศเกิดคำถามว่าเวลาเราขับเคลื่อนประเทศ จุดแข็งของประเทศไทยคืออะไร ถ้าคำตอบคือ จุดแข็งด้านเศรษฐกิจ แล้วเหตุใดประเทศไทยจึงประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจอยู่เรื่อยๆ นั่นหมายความว่าเศรษฐกิจไม่ใช่จุดแข็งที่แท้จริงในทัศนะของผมเห็นว่าประเทศไทยมีจุดแข็งอยู่ที่สังคมจิตวิทยา สังคมไทยเราเข้มแข็ง เห็นได้จากไม่ว่าจะเกิดภาวะวิกฤติขนาดไหนหากคุณเดินกลับบ้านอย่างน้อยคุณยังมีข้าวปลาอาหารยังชีพชีวิตยังคงดำรงต่อไปได้ นี่คือความเข้มแข็งของสังคมที่ไม่เหมือนประเทศอื่นๆ  สิ่งเหล่านี้หากเรานำมาวางแผนเพื่อการปฏิรูปจะเห็นได้ว่าในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเราจะศึกษาเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวตามแบบอย่างในต่างประเทศคงไม่ได้ เพราะสภาวะเศรษฐกิจของประเทศเราเป็นเศรษฐกิจแบบพึ่งพาการเกษตรเป็นอย่างมาก ผมจึงเห็นว่าการจะอธิบายเรื่องเศรษฐกิจวิถีที่มีชีวิตให้ทุกคนได้เข้าใจเราอาจต้องใช้เวลาศึกษากันยาวนาน แต่ถ้าเราลองดูตัวอย่างการดำเนินกิจการของบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่เป็นที่รู้กันดีว่าเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงและเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้นได้มีการศึกษาแล้วพบว่า ภาคการเกษตรของประเทศไทยมีความยึดโยงอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถกำหนดได้อย่างแน่นอน ดังนั้น จึงมีความพยายามที่จะนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้เพื่อควบคุมและจัดการสิ่งที่กำหนดไม่ได้ตามธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดให้สุกรทุกตัวออกมาเป็นพันธุ์เดียวกันกับความต้องการของตลาด เป็นต้น
 
            การร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดกรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญมาแล้วตั้งแต่ต้นเมื่อคณะกรรมาธิการได้พิจารณากรอบโครงสร้างการจัดทำและได้กำหนดแนวทางเบื้องต้นในการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว  ได้แบ่งโครงสร้างการร่างรัฐธรรมนูญออกเป็น ๔ ภาค ดังนี้ บททั่วไป ภาค ๑ พระมหากษัตริย์ และประชาชน ภาค ๒ ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมืองภาค ๓ นิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ภาค ๔ การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง จะเห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในภาคประชาสังคมที่เริ่มเข้ามามีบทบาทและมีส่วนเกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น การพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้เราต้องการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมไทยทำอย่างไรให้คนในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความขัดแย้ง สิ่งเหล่านี้คณะอนุกรรมาธิการคณะที่ ๑๐ ซึ่งมีศาสตราจารย์พิเศษอเนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธานอนุกรรมาธิการฯ ได้เสนอหลักการและสาระสำคัญที่ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไว้ โดยให้มีคณะกรรมการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติประกอบด้วยตัวแทนจากทุกฝ่ายและผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับ เพื่อร่วมกันแสวงหาแนวทางในการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างทางความคิดและเพื่อให้เกิดความสันติสุขที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงในระยะยาวที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของไทยอย่างแท้จริงต่อไป
 
            จุลนิติ : บทสรุป และข้อเสนอแนะอื่น ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศอันจะเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วนในการร่วมแรงร่วมใจกันปฏิรูปประเทศไทยให้มีความมั่นคงและยั่งยืนตลอดไป
 
            พลเอก เอกชัยฯ:การพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความพยายามที่จะสร้างสังคมไทยให้หลอมรวมกันได้ และอาจเป็นรัฐธรรมนูญกำหนดจุดเปลี่ยนผ่านประเทศไทยครั้งแรกที่จะทำให้ภาคประชาชนมีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมมากขึ้นกว่าเดิม แล้วก็ลดบทบาทในแง่ของอำนาจด้านใดด้านหนึ่งที่เคยมีเหนือจากอีกด้านหนึ่ง พยายามจะลดบทบาทตรงนี้ให้อยู่ในสมดุลของทั้งหมดนี้ให้ได้ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วก็อาจจะเป็นเหมือนนัยว่าครั้งหนึ่งปี ๒๕๔๐ ก็บอกเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี การมีส่วนร่วมและเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ถูกต้องไหม ก็อาจจะเป็นรูปแบบนั้น เพียงแต่ว่าเผอิญช่วงนี้เป็นช่วงภาวะที่มาจากความขัดแย้ง เราจะทำอย่างปี ๒๕๔๐ ไม่ได้เต็มที่ แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรค สามารถทำได้ แล้วเราคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่ไม่ใช่ว่าพอร่างเสร็จแล้วประกาศใช้ก็จบตรงนั้น อาจารย์ชี้แนะว่าจะต้องมีอะไรที่เป็นบทเฉพาะกาลที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้สามารถนำไปปฏิบัติตามที่เราต้องการ  เราต้องเขียนไว้ว่าเราจะมีการออกแบบอนาคตและติดตามการใช้รัฐธรรมนูญไประยะหนึ่งอย่างไร  ซึ่งจะเป็นกี่ปีก็แล้วแต่คณะกรรมาธิการในส่วนนั้นก็จะเป็นคนออกแบบ เช่น บอกว่าเราจะต้องดูต่อเนื่องรัฐธรรมนูญใช้ไปจนกระทั่ง ๕ ปี หลังจากนั้น ๕ ปี ใครจะมาเปลี่ยนจะมาแก้นี้ ไม่ได้ เพราะว่าเรามีกรอบของเราชัดเจนแล้ว ถ้าเผื่อจะมาเปลี่ยนแก้ต้องมาผ่านขั้นตอนนี้แก้เหมือนเดิมไม่ได้แล้ว แล้วก็ความคิดของผมนะครับ ไม่อยากให้มีรัฐธรรมนูญที่พอใครมาแก้ก็คือผิดกฎหมาย ผิดกฎหมายก็ต้องออกจากหน้าที่ เว้นวรรคทางการเมือง เป็นนักการเมืองต่อไปไม่ได้ แล้วยุบพรรคเขาอะไรอย่างนี้ เป็นเรื่องอะไรที่ไม่ค่อยมีสาระเท่าไร คือต้องทำให้เกิดกลไกเครื่องมือที่เขาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขเปลี่ยนได้ แต่ต้องมีคนกลั่นกรองเสียก่อน ก่อนที่ไปเข้าสภาแล้วแก้ไข แต่จะแก้ไขตามอำเภอใจที่ตัวเองอยากทำไม่ได้ต่อไป รัฐธรรมนูญนี้จะต้องเขียนเรื่องนี้ เพื่อป้องกันปัญหานี้ต่อไปในอนาคต

 

****************
Visitors: 6,484