ประเทศไทยจะรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนอย่างไร ? (ตอนที่ 1)

               

                หลายๆ ประเทศก็ได้มีการเตรียมตัวความพร้อมของกับการเปิดประชาคมอาเซียนกันแล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ได้ก่อตั้งอาเซียนขึ้นมา หากเราไม่สนใจโอกาสที่เราจะมีก็จะเสียไป แล้วอาจจะกลายเป็นอุปสรรคในการดำเนินการของประเทศเราด้วยซ้ำไปหากเราไม่สนใจ

                 ในกลุ่มประเทศอาเซียนมีอยู่ด้วยกัน 10 ประเทศ และหลายๆ หน่วยงานและหลายๆ เวทีก็กำลังพูดกันเรื่องอาเซียน ผมก็ได้มีโอกาสไปร่วมพูดคุยกับเวทีของจุฬาฯ เรื่อง “อาเซียนกับโลกมุสลิม” เรื่องอาเซียนเป็นสิ่งที่เราจะต้องตระหนักรู้และสนใจ เนื่องจากในหลายๆ กลุ่มประเทศเขาสนใจที่จะเข้าสู่อาเซียน ในขณะที่มีการประเมินว่าในประเทศไทยเรายังไม่ค่อยมีความสนใจเรื่องอาเซียนเท่าที่ควร เรายังอยู่ในระดับท้ายๆ ของความสนใจของประชาชน และในกลุ่มประเทศอาเซียนก็ได้มีการเตรียมตัวกัน เช่น ระบบการจัดการบริหารภายในประเทศ เขาก็ได้มีการเตรียมกัน ต้องยอมรับว่าประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย เขามีระบบการบริหารจัดการในประเทศของเขาค่อนข้างดีพอสมควรเลย

 

สิงคโปร์ เป็นที่มีจุดสุดยอดในหลายๆ เรื่อง

 

                 เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน และสิงคโปร์ไม่ได้เตรียมการเพื่ออาเซียนอย่างเดียว แต่เขาเตรียมการเพื่อมุ่งสู่การเป็นประเทศที่มีการบริหารจัดการเป็นอันดับหนึ่งของโลก เป็นประเทศที่ได้รับการจัดอันดับอยู่ใน Top 5 ของโลกว่ามีระบบการบริหารจัดการประเทศที่ดีที่สุดของโลก  เขาพัฒนาประเทศจนมาถึงที่ว่าเขาไม่สามารถดูประเทศไหนเป็นแบบอย่างได้อีกต่อไปแล้ว เนื่องจากว่าเขาพัฒนามาจนถึงจุดสุดยอดในหลายๆ เรื่อง และเขาต้องรีบพัฒนาประเทศให้หนีห่างประเทศอื่นๆ ที่พยายามจะเลียนแบบและตามเขา แต่ก็ต้องยอมรับว่าบริบทของสิงคโปร์กับไทยเราต่างกัน แค่ประชากรเราก็มากกว่าสิงคโปร์เป็น 10 กว่าเท่า พื้นที่เราก็มากกว่าสิงคโปร์กว่า 10 เท่า อีกทั้งทรัพยากรเราก็มากกว่าด้วย แต่สิงคโปร์มีทรัพยากรน้อยกว่าเรา แต่สามารถพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศที่มั่งคั่งติดอันดับอยู่ 1 ใน 10 ของโลกได้

                 สิงคโปร์เขาเป็นนักขาย เขาเป็นตลาดกลางที่ถือว่าเป็นมาตรฐานในการกำหนดราคากลางของพลังงานที่จะซื้อขายกัน ผมว่าสิงคโปร์เขาบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ของเขาที่เรียกว่า ทุนทางปัญญา (Intellectual capital) หรือทุนทางสมองของคนที่มีคุณภาพมาก เขาปรับเปลี่ยนวิธีคิดของคน ซึ่งวิธีคิดของคนนี่สามารถปรับเปลี่ยนได้นะครับ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้  และสิงคโปร์ทำมาแล้วไม่ต่ำกว่า 30 ปี ในการปรับเปลี่ยนความคิดของคน แล้วเขาก็ไปสู่ความสำเร็จได้

                 ด้านการบริหารจัดการประเทศ มีหน่วยงานที่เรียกว่า IMD (International Management Development Institute) คือเป็นสถาบันเกี่ยวกับการพัฒนานานาชาติ เพราะฉะนั้นเขามีการประเมิน แล้วเขาจะวัดจากการบริหารจัดการจากภาครัฐและเอกชนด้วย บ้านเราเป็นประเทศที่ภาคเอกชนบริหารจัดการดีกว่าภาครัฐ เพราะฉะนั้นภาครัฐก็เป็นตัวถ่วงเอกชน ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่เราควรต้องตระหนักรู้ และภาครัฐเรามีการออกกฎระเบียบข้อบังคับออกมามากมาย หรือเรียกว่ามีกำแพงกั้นที่ทำให้การบริหารจัดการไม่สามารถเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว  แต่กลับสร้างอุปสรรคต่อการบริหารจัดการในระบบมากขึ้นด้วยซ้ำ เช่น เรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของเราก็ไม่ค่อยดี  เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นแล้ว โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จะช่วยขนส่งสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและประหยัด  ยกตัวอย่าง เรื่องระบบการสื่อสารหรือขนส่งข้อมูล ถ้าเราเปรียบเทียบกับลาวอย่างที่เราพูดกันตลกๆ ว่า “ ลาวนี่ใช้ 3G จนกระทั่งจะไป 4G แล้ว ไทยยังไม่ได้ใช้ 3G เลย ” ผมรู้สึกว่าภาครัฐของเรายึดติดยึดกับกฎระเบียบมากจนกระทั่งมันไม่สามารถขับเคลื่อนไปไหนได้

 

ระบบการศึกษาและการใช้ภาษาของประเทศต่างๆ

 

                 ด้านระบบการศึกษาประเทศต่างๆ อย่างเช่น สิงคโปร์ เขามีต้นทุนทางภาษา เขาสามารถพูดภาษามาเลย์ ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาราชการ หรือประเทศมาเลเซีย เขาพูดภาษามาเลย์และภาษาอังกฤษได้ ซึ่งภาษามาเลย์เป็นภาษาที่มีการพูดภายในประเทศอาเซียน ประมาณ 300 ล้านคน ใน 600 ล้านคน ก็ถือว่าครึ่งหนึ่งแล้ว อย่างประเทศเวียดนาม เขาก็มีการพูดภาษาเวียดนาม บางส่วนพูดภาษาฝรั่งเศสได้ เพราะว่าเคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ก็ถือว่าเป็นจุดดีของเขา แต่จุดดีของไทยเราคือ เราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใคร แต่จุดด้อยของเราคือ เราไม่มีต้นทุนทางภาษาเลยนอกจากภาษาไทย  เราก็ไม่มีต้นทุนภาษาใดๆมากไปกว่านี้  ทั้งๆ ที่เราก็พยายามที่จะเรียนทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน ภาษาฝรั่งเศส แต่ว่าเราก็ไม่สามารถหาเปอร์เซ็นต์ของคนที่สามารถพูดได้อย่างชัดเจน  แล้วเราก็ไม่ค่อยได้ใช้ในชีวิตประวัน

                สำหรับประเทศที่เขาไม่ค่อยได้ใช้ภาษาของประเทศอื่น อย่างเช่น ประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น จีน ประเทศต่างๆ เหล่านี้ใช้ภาษาแม่ของตัวเองหมดเลยเป็นภาษาหลัก แล้วก็ไม่สนใจภาษาต่างประเทศด้วย ตรงนี้ที่เป็นข้อสังเกตของผม เพราะว่าเวลาเราไปที่ประเทศเกาหลี จะไม่เห็นว่าเขาพูดภาษาอังกฤษเลย เขาจะพูดแต่ภาษาเกาหลีของเขา เขามีความเป็นชาตินิยมสูงมาก หรือประเทศจีน เขาฟังภาษาอังกฤษออก แต่ไม่ยอมพูดภาษาอังกฤษจะพูดแต่ภาษาจีน เช่นเดียวกับญี่ปุ่นก็มีลักษณะเช่นนี้เหมือนกัน เวลาไปพบพูดคุยกันเขาจะมีล่ามแปล  กลับสร้างให้เป็นจุดแข็งของทั้งสามประเทศเพราะเขาจะเกิดความรักชาติ  มีชาตินิยมติดมา

 

การคัดเลือกเอกอัครราชทูตของประเทศต่างๆ

 

             ขณะนี้อเมริกันให้ความสนใจกับประเทศพม่ามากเลย คนที่จะมาเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาในพม่า ก็คือปลัดกระทรวงกลาโหม นี่แสดงว่าอเมริกันเขาให้ความสนใจมาก  เพราะพม่าเขาเคยปกครองโดยทหาร เพราะฉะนั้นเอกอัครราชทูตของเขาต้องเป็นคนที่พูดกับทหารรู้เรื่อง และอีกหลายๆประเทศเอกอัครราชทูตเขามาจากคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมแล้วขออนุมัติต่อสภา  แต่ก็มีอีกหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยที่คนจะไปเป็นเอกอัครราชทูตนั้นจะต้องมาจากกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น  ที่ผมทราบมาจากหลายๆ ชาติ อย่างประเทศอินโดนีเซีย เขาจะคัดเลือกคนที่เหมาะสมกับประเทศไทยว่าควรจะเป็นใคร โดยเขาจะศึกษาเกี่ยวกับประเทศไทยก่อนว่าเป็นอย่างไร เช่น ประเทศไทยเป็นประเทศอาเซียน เป็นประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีเศรษฐกิจเจริญก้าวหน้า เพราะฉะนั้นอินโดนีเซียก็จะหาคนที่เหมาะสมที่จะมาช่วยประสานงานตรงนี้ โดยมาจากฝ่ายการเมือง

             เอกอัครราชทูตของสหรัฐอเมริกาจะต้องผ่านการพิจารณาบุคคลจากรัฐสภาก่อน เพราะคนที่เขาคัดมาจากหลากหลาย ไม่ใช่มาจากกระทรวงการต่างประเทศอย่างเดียว นี่คือจุดเน้นและดีของเขา แล้วเขาก็คัดคนที่มีความกว้างขวางมาก และเป็นเกรด A

             นอกจากนี้คนที่จะมาเป็น  เขาทราบล่วงหน้ามาก่อนหนึ่งปีแล้ว เขาก็จะส่งมาเรียนภาษาของประเทศนั้น ซึ่งเดี๋ยวนี้เอกอัครราชทูตต่างๆ ที่จะเข้ามาอยู่ในประเทศไทยนั้นต้องพูดภาษาไทยได้ เท่าที่ผมทราบเอกอัครราชทูตที่พูดภาษาไทยได้ก็มี เอกอัครราชทูตอังกฤษ เดนมาร์ค จีน สหรัฐอเมริกาก็พอพูดได้บ้าง เขาพูดไทยได้ แสดงว่าเขาให้ความสนใจและความสำคัญกับประเทศไทย ที่กล่าวตรงนี้ก็เพื่อแนะนำว่า เราต้องเลือกเอกอัครราชทูตที่จะไปอยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียนเราเพื่อจะช่วยขับเคลื่อนอาเซียน มิใช่จัดคัดเลือกไปตามวงรอบ ไปตามวาระ ต้องทำเป็นยุทธศาสตร์เชิงรุกเกี่ยวกับการแต่งตั้งคน เพื่อไปดำรงอยู่ในตำแหน่งต่างๆ

 

ความสำคัญของผู้หญิงในสังคมโลกปัจจุบัน

 

             เอกอัครราชทูตของมาเลเซียจากที่หลายๆ คนทราบว่าเป็นสุภาพสตรี และมีการพูดจาที่เก่ง ผมว่าก็เป็นแนวโน้มของโลกที่หลายๆ ประเทศเริ่มเห็นบทบาทของสตรีเข้ามาเกี่ยวข้อง และอย่าลืมว่าประเทศมาเลเซียก็เป็นประเทศมุสลิม  เพราะฉะนั้นเอกอัครราชทูตผู้หญิงของเขาก็เป็นมุสลิมเช่นกัน ถ้าผู้หญิงได้รับหน้าที่เช่นนี้ แสดงว่าเขาให้เกียรติสูงมาก และให้ความไว้วางใจที่จะมาอยู่ประเทศไทย ซึ่งเขาก็ให้ความสำคัญตรงนี้ด้วย

             ที่ผมยกตัวอย่างตรงนี้ เนื่องจากผมได้ดูการประเมินผู้บริหารที่เป็นสตรี ของแกรนท์ ธอร์นตัน ปี 2554 โดยประเมินธุรกิจทั่วโลก ปรากฏว่าผู้บริหารที่อยู่ในระดับสูงขององค์กรภาครัฐและเอกชนของไทย เรามีผู้บริหารระดับสูงที่เป็นสตรีมากที่สุดในโลกคือมี 45 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดโดยรวม แล้วตำแหน่งที่สำคัญที่ผู้หญิงถูกไว้วางใจมากที่สุดคือ ตำแหน่งเกี่ยวกับด้านการเงิน เพราะว่าผู้หญิงจะมีความละเอียดลออ มีเหตุมีผล จะขออนุมัติแต่ละครั้งไม่ใช่ง่ายๆ ซึ่งก็เป็นจุดแข็งอีกอย่างหนึ่งของสุภาพสตรีทั้งหลาย

              นอกจากนี้ผมได้คุยกับคนในแวดวงการศึกษา ผมก็ได้ทราบมาว่า การสอบ
เอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย ทั้งแพทย์และวิศวะ กลับกลายเป็นผู้หญิงได้มาก แต่ก่อนวิศวะต้องเป็นผู้ชายได้มากกว่า ซึ่งจำนวนประชากรของไทยผู้หญิงจะมีมากกว่า ซึ่งผมถือว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจเหมือนกัน
 

อ่านต่อ ประเทศไทยจะรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนอย่างไร ? (ตอนที่ 2)

Visitors: 6,483